นั่งเครื่องอย่างไร… ให้สบายตลอดไฟลท์

1335
0
Share:

เตรียมพร้อมเดินทางกันอีกครั้ง แต่การนั่งไฟลท์นานๆ โดยเฉพาะชั้นประหยัด ก็ทำเอาหลายคนต้องทำใจกับการอยู่ในพื้นที่จำกัด หันขวาที ซ้ายที ก็ยังไม่หายเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวซักที แข้งขาก็ไม่รู้จะเก็บไว้ตรงไหน มันเมื่อย มันแข็งไปหมด ถ้าไม่อยากให้ตัวเองพลาดทริปเที่ยวสนุกๆ ลองใช้เวลาที่อยู่บนเครื่อง ยืดเส้นยืดสายให้สบายตัว พร้อมเที่ยวให้เต็มที่กันดีกว่า

แต่ก่อนอื่น เรามารู้จักอาการที่เรียกว่า “กลุ่มอาการเครื่องบินชั้นประหยัด” หรือ Economy Class Syndrome ที่ชาวเรามักพบเจอจากการนั่งนานๆ ในพื้นที่จำกัด จนทำให้เกิดเลือดแข็งตัวเป็นก้อน ภาษาแพทย์เรียกว่า โรค DVT หรือ Deep Venous Thrombosis ซึ่งเป็นอาการของโรคหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน

ฟังดูเหมือนน่ากลัว แต่อาการปวดเมื่อย เส้นยึด เส้นตึง เท้าบวมจากภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน สามารถป้องกันได้ แค่ยืดเส้นยืดสาย ขยับร่างกายระหว่างนั่งอยู่บนเครื่อง หรือลุกเดินไปเดินมา กลุ่มอาการของชาวชั้นประหยัดอย่างเรา จะได้ไม่มาถามหาให้กวนใจ

ก่อนลงเครื่องตลุยทริปเที่ยว ยังอีกหลายชั่วโมง นั่งๆ นอนๆ แล้ว ลุกขึ้นมาวอร์มอัพขยับแข้งขยับขา เตรียมร่างกายพร้อมลุยเที่ยวกัน

  • ท่าที่ 1 

The Revolver ชื่อท่าอย่างเท่ห์ แต่ก็เป็นท่าง่ายๆ ที่ได้ผล แค่ยกเท้าทั้งสองข้างขึ้น หมุนเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกา 5 ครั้ง ทวนเข็มนาฬิกา 5 ครั้ง ช่วยขยับข้อต่อข้อเท้าได้ดีเลยทีเดียว

ภาพจาก https://www.vacationistmag.com/exerciseinplane/

 

  • ท่าที่ 2

The Ballerina ท่านี้นึกว่าเรากำลังซ้อมบัลเล่ต์อยู่บนเครื่องก็แล้วกัน วางส้นเท้าไว้กับพื้น แล้วเหยียดปลายเท้าขึ้น ค้างไว้ซักพัก จากนั้นทำสลับโดยกดปลายเท้าลง แล้วยกส้นเท้าขึ้นแทน ยกส้นเท้าและปลายเท้ายิ่งสูง จะช่วยยืดคลายกล้ามเนื้อไปถึงน่องกันเลยเชียว

ภาพจาก https://www.vacationistmag.com/exerciseinplane/

  • ท่าที่ 3

The Knees Up อันนี้ไม่ได้ให้ไปตีเข่าคนข้างๆ นะ แค่โค้งตัวมาข้างหน้า เอามือทั้งสองข้างประสานไว้ที่เข่าข้างหนึ่ง ยกเข่าขึ้น ค้างไว้ 15 วินาที แล้วสลับข้าง ทำซ้ำ 2 ครั้ง อันนี้ก็ช่วยยืดกันยาวๆ ไป

ภาพจาก https://www.vacationistmag.com/exerciseinplane/

  • ท่าที่ 4

The Inquirer ท่านี้ทำยังไงให้เหมือนคนขี้สงสัย ก็เอียงคอให้ตึงไปทีละด้าน ค้างไว้ 5 วินาที ทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง จากนั้นหมุนตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกา ทำซ้ำ 10 ครั้ง

ภาพจาก https://www.vacationistmag.com/exerciseinplane/

  • ท่าที่ 5

ท่าง่ายๆ แต่ทำแล้วสบายน่าดู ยืดเหยียดเข่าและข้อเท้าออกไป บริหารน่องและต้นขากันซักหน่อย

  • ท่าที่ 6

บิดไหล่ ยกสองแขนขึ้นด้านบน แขนข้างหนึ่งให้พับลงมาด้านหลัง แล้วใช้มืออีกข้างจับศอกกดลงไป ค้างไว้ 15 วินาที แล้วสลับทำอีกข้าง

ท่าที่ 7

จบท้ายด้วยการสะบัดข้อมือ นวดมือและนิ้ว ยืดกล้ามเนื้อส่วนแขน ผ่อนคลายความเมื่อยล้า

แต่ละท่า ทำเป็นเซต เซตละ 5-10 ครั้ง ถ้าเป็นไปได้ ฮึดขึ้นมาทำทุกชั่วโมงได้ยิ่งดี กล้ามเนื้อชาวเราจะได้ลดความปวดเมื่อย และความเสี่ยงจากภาวะเส้นเลือดดำอุดตัน นอกจากนี้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ อย่ามัวแต่เล่นเกมส์ เล่นมือถือ ลุกเดินไปห้องน้ำ หรือเดินรอบทางเดินบ้าง จะช่วยคลายความเมื่อยที่ต้องนั่งจ่อมจมเป็นเวลานาน และที่สำคัญไม่ควรนั่งไขว่ห้าง เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เมื่อยหนักขึ้นไปอีก

ใส่เสื้อผ้าที่สบายๆ ไม่ฟิตหรือแน่นเกินไป ไม่ต้องจัดชุดเต็มยศ หรูหราดาวล้านดวง อยู่บนเครื่องไม่มีใครสนใจเรา เอาที่สบายๆ ใส่ชุดวอร์มหลวมๆ หรือเอาชุดนอนมาเปลี่ยน ก็เป็นทางเลือกที่ดี ไม่ใช่แค่นั่งสบาย เวลาไปเข้าห้องน้ำก็สะดวกเป็นที่สุด คุณผู้หญิงขอเตือน อย่าใส่ถุงน่องขึ้นเครื่องเชียวล่ะ เพราะนอกจากจะไม่สะดวกในการทำธุระต่างๆ แล้ว ยังจะทำให้เกิดอาการ Economy Class Syndrome ได้ง่ายขึ้น

สำหรับใครที่ขึ้นเครื่องบินครั้งแรก หรือยังไม่ชินกับการนั่งเครื่อง นอกจากจะเจอภาวะโหวงๆ ตอนเครื่องทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า หรือกำลังแลนดิ้งสู่พื้นโลก อีกอาการหนึ่งที่อาจพบเจอคือ หูอื้อ ปวดหูเหมือนมีอะไรเจาะเข้าไป เด็กบางคนถึงกับร้องไห้กระจองอแง เพราะทนความปวดแทบไม่ไหว

อาการนี้ เป็นภาวะที่หูชั้นกลางของเรา ไม่สามารถปรับความดันให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก ยิ่งถ้าคนที่เป็นหวัด มีอาการภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ มืโอกาสหูอื้อ ปวดหูได้มากขึ้น

สิ่งสำคัญคือ เราต้องเคลียร์หูให้ได้ วิธีง่ายๆ คือ การกลืนน้ำลาย จะช่วยให้ปรับความดันหูให้เท่ากัน ถ้ายังรู้สึกอื้ออยู่ ก็พยายามกลืนน้ำลายไปเรื่อยๆ จนมีเสียงเปราะ จะรู้สึกหูโล่งขึ้น การหาวก็ช่วยได้ แต่บางทียังไม่ง่วงนอน ก็ต้องพยายามหาวกันเข้าไป ให้หูเคลียร์ๆ ซักที

อีกวิธีชื่อเก๋ ดูแอดวานซ์มากๆ เรียกว่า การทำ Valsalva นักดำน้ำจะคุ้นเคยกับวิธีนี้  หายใจเข้าลึกๆ ใช้มือบีบจมูก ปิดปาก เป่าลมแรงๆ ฮึบเข้าไปในหู จะช่วยลดอาการหูอื้อ ปวดหูได้ดีทีเดียว

สำหรับเด็กเล็ก คงใช้วิธีเหล่านี้ไม่ได้ แต่เราแก้ปัญหาง่ายๆ ได้โดยให้เด็กดูดน้ำหรือนม หรือเคี้ยวขนมขณะเปลี่ยนแปลงระดับความสูง ก็จะช่วยได้บ้าง

การเดินทางทางอากาศ ดูน่าสนุก ตื่นเต้น แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพความกดอากาศ ก็ทำให้เรามีสภาวะบางอย่างของร่างกายที่แปรปวนได้ ก๊าซที่มีอยู่ตามโพรงหรือช่องตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ช่องหูชั้นกลาง โพรงไซนัส โพรงรากฟัน ปอด กระเพาะอาหารและลำไส้ จะเกิดแรงดันจนทำให้หลายคนปวดหู ปวดไซนัส แน่นหน้าอก แน่นท้องได้มากกว่าปกติ

เพราะฉะนั้น เตรียมพร้อมก่อนการบิน และระหว่างบินให้ดี เพื่อจะได้ลงเครื่องอย่างสวยๆ พร้อมลุยเที่ยวกันได้เต็มที่

Tips 

  • ก่อนบิน นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ ร่างกายจะได้พร้อมรับกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอทั้งก่อนขึ้นบินและระหว่างบิน สร้าวความชุ่มชื้นให้ร่างกายและระบบการไหลเวียนภายใน 
  • ถ้าบินไฟลท์ยาวๆ อย่าเพลิดเพลินกับการดริ๊งค์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัวเกิดเส้นเลือดที่ขาอุดตันได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น น้ำอัดลม ถั่ว เพราะแก๊สจะขยายตัวมากขึ้นเวลาเครื่องบินในระดับสูง คนข้างๆ อาจผวาเสียงลมของเราได้
  • จัดท่านอนไม่ให้ส่วนขาถูกกดทับ เวลานั่งเครื่องควรถอดรองเท้า เพื่อให้เท้าเราสบายที่สุด
  • เคลื่อนไหวหรือขยับขาบ่อยๆ ให้เกิดการไหลเวียนโลหิต ลุกมาเดินทุกๆ ชั่วโมงได้ยิ่งดี
  • ถ้าไม่อยากเจอสภาวะสั่นสะเทือนมาก เลือกที่นั่งช่วงกลางลำหรืออยู่ระหว่างปีกเครื่องบิน เพราะเป็นช่วงที่มีแรงเหวี่ยงน้อยสุด

เสื้อผ้าพร้อม! ใจพร้อม! ยาประจำตัวก็ต้องพร้อมด้วย แนะนำให้พกยาประจำติดตัวตลอดเวลา

แค่นี้ ไฟลท์ยาวแค่ไหน ชาวชั้นประหยัดอย่างเราก็พร้อมสู้!

Share:

Leave a reply